กระจุกดาวลูกไก่มีชื่อเรียกอีกมากมายหลายชื่อ เช่น Pleiades , วัตถุเมสสิเยร์ M45 , ดาวพี่น้องทั้ง7 แต่คนไทยจะรู้จักกันดีในชื่อดาวลูกไก่ ซึ่งเป็นกระจุกดาวในกลุ่มดาววัว ที่มีดาวฤกษ์ระดับ B นับเป็นหนึ่งในกระจุกดาวที่อยู่ใกล้โลกของเรามากที่สุด และสามารถมองเห็นได้อย่างแจ่มชัดด้วยตาเปล่า กระจุกดาวนี้มีดาวฤกษ์สีน้ำเงินซึ่งมีอายุราว 100 ล้านปีอยู่ด้วย ในอดีตเคยเชื่อว่าเศษฝุ่นซึ่งก่อให้เกิดแสงสะท้อนแสงจางๆ น่าจะเป็นเศษฝุ่นที่มาจากการก่อตัวของกระจุกดาว แต่ในปัจจุบันนี้เป็นที่แน่แล้วว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกันแม้แต่นิด ที่แท้เป็นเพียงฝุ่นเมฆในสสารระหว่างดาวที่ดาวฤกษ์กำลังเคลื่อนผ่านเท่านั้น มีการคาดการณ์ว่ากระจุกดาวนี้จะอยู่ต่อไปอีก 250 ล้านปี หลังจากนั้นก็จะกระจัดกระจายกันออกไป สาเหตุมาจากปฏิกิริยาแรงโน้มถ่วงซึ่งเกิดจากดาราจักรเพื่อนบ้านใกล้เคียงนั่นเอง
เรื่องเล่าในตำนานและวัฒนธรรมพื้นบ้านของดาวลูกไก่
กระจุกดาวลูกไก่นี้สามารถมองเห็นในตอนกลางคืนได้อย่างเด่นชัด จึงทำให้เป็นที่รู้จักเกือบทุกวัฒนธรรมทั่วโลกนับตั้งแต่โบราณ เพราะฉะนั้นจึงมีตำนานเล่าขานแตกต่างกันไปตามแต่ล่ะประเทศ
นางไพลยาดีส , ตำนานกรีก
ชื่อของกระจุกดาวลูกไก่ในทางดาราศาสตร์จะใช้ภาษาอังกฤษ โดยมีการตั้งชื่อกลุ่มดาวนี้ตามตำนานกรีก ตำนานเล่าว่า ดาวลูกไก่ใช้แทนหญิงสาวพี่น้อง 7 คน แห่งไพลยาดีส ส่วนตำนานของชาวไวกิงเล่าว่าดาวเหล่านั้นก็คือแม่ไก่ทั้ง 7 ตัวของเฟรย์ยา ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับตำนานของไทย
นิทานดาวลูกไก่ , ตำนานไทย
นานมาแล้วมีตายายผัวเมียคู่หนึ่งอาศัยอยู่ในป่า วันหนึ่งมีพระผ่านมา ตาและยายอยากจะหาอาหารไปถวายพระ แต่พวกเขาอาศัยอยู่ในป่าจึงไม่มีอาหารดีๆนำไปถวาย ตาและยายจึงปรึกษากันว่าจะฆ่าไก่ที่เลี้ยงไว้เพื่อไปนำไปทำอาหารถวาย แต่พอดีแม่ไก่ได้ยินจึงสั่งเสียลูกไก่ทั้ง 6 เอาไว้ ส่วนตัวเองถึงคราวต้องตอบแทนคุณตายายแล้ว พอตายายฆ่าแม่ไก่เสร็จ ลูกไก่ทั้ง 6 ก็กระโดดเข้าเตาไฟตายตามแม่ไปด้วย แต่เทวดาเห็นถึงความกตัญญู จึงให้แม่ไก่และลูกไก่ขึ้นไปเป็นดาวอยู่บนฟ้าด้วยกัน
การปรากฏของดวงดาวบนฟ้าในสมัยโบราณ มักใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกำหนดระยะเวลาตามปฏิทินในสมัยก่อน การปรากฏตัวบนฟ้าของกระจุกดาวลูกไก่ คือ ประมาณเดือนมิถุนายน ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่สำหรับชาวเผ่า Maori ในประเทศนิวซีแลนด์ พวกเขาเรียกกลุ่มดาวนี้ว่า มาตาริกิ ซึ่งแปลว่าดวงตาเล็กๆ